พรบ.กับประกันภัยรถยนต์คืออะไร ต่างกันอย่างไร สิ่งใดจำเป็นต้องทำ?!

อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่บางครั้งก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะแม้ว่าผู้ขับขี่จะใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดเพียงใดก็ตาม แต่หลายครั้งผู้ร่วมทางที่ประมาทก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและความเสียหายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องมีหลักประกันเพื่อช่วยเพิ่มความอุ่นใจและให้ความคุ้มครองผู้ใช้รถใช้ถนน นั่นก็คือ พรบ.และประกันรถยนต์

ทำความรู้จัก พรบ. กับประกันภัยรถยนต์อย่างละเอียด

หลายคนอาจมีคำถามว่า พรบ.กับประกันภัยรถยนต์นั้น คือสิ่งเดียวกันหรือไม่ ทั้งสองอย่างมีความแตกต่างกันอย่างไร และควรทำทั้งสองอย่างหรือเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่ ในบทความนี้เราจะมาไขข้อข้องใจจากคำถามดังกล่าวให้คุณได้ทราบดังนี้กันค่ะ

พรบ.คืออะไร

พรบ. หรือชื่อแบบเต็มๆ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายกำหนดให้รถยนต์ทุกคันต้องทำประกันชนิดนี้ จึงเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นประกันภาคบังคับที่รถทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกต้องทำ โดย พรบ.นี้จะใช้ในการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี หากไม่มีจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 10,000 บาท ดังนั้น รถทุกคันจึงต้องมี พรบ. ไม่มีไม่ได้

  • พรบ.จะให้ความคุ้มครองตัวบุคคลที่ได้รับอุบัติเหตุเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงบุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุนั้นๆ ซึ่งการคุ้มครองจะมาในรูปแบบของค่ารักษาพยาบาลตามที่กำหนดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน
  • ค่าชดเชยรายวันไม่เกิน 200 บาทต่อวัน ระยะเวลารวมไม่เกิน 20 วัน
  • ส่วนกรณีที่มีการสูญเสียอวัยวะ, ทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิต จะมีค่าชดเชยให้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อคน

ประกันภัยรถยนต์ คืออะไร

ประกันภัยรถยนต์ คือการคุ้มครองความเสี่ยงที่เกิดจากภัยในการใช้รถยนต์แบบสมัครใจ ซึ่งหมายความว่าเจ้าของรถจะทำหรือไม่ทำประกันภัยรถยนต์ก็ได้ แต่การทำประกันภัยรถยนต์เอาไว้นั้นจะช่วยเพิ่มความอุ่นใจในการใช้รถยนต์มากยิ่งขึ้น เพราะมีประกันภัยที่ครอบคลุมทั้งความสูญเสีย และความเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์ รวมถึงความสูญเสียหรือความเสียหายที่รถยนต์ก่อให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมทั้งบุคคลที่โดยสารอยู่ในรถยนต์คันนั้นอีกด้วย

ประกันภัยรยนต์ มีกี่ประเภท

ประกันภัยรยนต์ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 ประเภทที่เจ้าของรถสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมและความต้องการในการคุ้มครอง โดยประกอบไปด้วย

1.ประกันรถยนต์ ชั้น 1 เป็นประกันที่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด และถือว่าเป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นประกันที่ต้องจ่ายค่าเบี้ยในอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่หากรถของคุณเป็นรถใหม่ก็ถือได้ว่าคุ้มค่าที่จะทำ

2.ประกันรถยนต์ ชั้น 2 เป็นประกันที่ครอบคลุมความเสียหายกับยานพาหนะทุกคันที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรณีที่รถหายและไฟไหม้

3.ประกันรถยนต์ชั้น 3 เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก รวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลของคนขับ และผู้โดยสารของรถที่เอาประกัน เป็นประกันที่มีค่าเบี้ยค่อนข้างถูก แต่การคุ้มครองก็จะน้อยลงตามไปด้วย

4.ประกันรถยนต์ชั้น 3+ ให้ความคุ้มครองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินบุคคลภายนอก ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท/ครั้ง แต่ไม่รวมกรณีรถหายและไฟไหม้

5.ประกันรถยนต์ชั้น 2+ จะให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกับประกันรถยนต์ชั้น 3+ แต่จะรวมกรณีรถหายและไฟไหม้เข้าไปด้วย

ความแตกต่างของ พรบ. และประกันภัยรถยนต์

เมื่อดูจากรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้น จึงสามารถสรุปได้ว่าความแตกต่างของ พรบ.กับประกันภัยรถยนต์นั้น คือ พรบ.หรือคือสิ่งที่รถยนต์ทุกคันจะต้องมี ถือเป็นการคุ้มครองภาคบังคับตามกฎหมาย ไม่ทำไม่ได้ ส่วนประกันภัยรถยนต์นั้นเป็นความคุ้มครองแบบสมัครใจ ที่จะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่หากเลือกทำประกันภัยก็จะได้รับความอุ่นใจในการคุ้มครองที่มีความครอบคลุมมากขึ้น

ถึงตอนนี้คุณก็คงจะเข้าใจความแตกต่างระหว่าง พรบ. กับประกันภัยรถยนต์ได้ดีมากยิ่งขึ้นแล้ว และสามารถพิจารณาเลือกความคุ้มครองที่ครอบคลุมและเหมาะสมให้กับตนเองได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้นด้วย